วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โปรแกรม Ulead studio

โปรแกรม Ulead Studio
โปรแกรม Ulead Studio เป็นโปรแกรมตัดต่อวีดีโอที่มีการใช้งานไม่ยากจนเกินไป แม้ผู้ที่เริ่มใช้งานก็สามารถที่จะสร้างวีดีโอได้เหมือนกับผู้ที่มีประสบการณ์ตัดต่อวีดีโอมานาน โปรแกรมนี้มีเครื่องมือต่างๆ สำหรับตัดต่อวีดีโออย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่จับภาพจากกล้องเข้าคอมพิวเตอร์ ตัดต่อวีดีโอ ใส่เอ็ฟเฟ็กต์ต่างๆ แทรกดนตรีประกอบ แทรกคำบรรยาย ไปจนถึงบันทึกวีดีโอที่ตัดต่อกลับลงเทป, VCD, DVD หรือแม้กระทั่งเผยแพร่ผลงานทางเว็บ
โปรแกรม Ulead มีการทำงานเป็นขั้นตอนที่ง่าย ตั้งแต่จับภาพ ตัดต่อไปจนถึงเขียนลงแผ่น นอกจากนี้แล้ว โปรแกรมยังมีเอ็ฟเฟ็กต์ต่างๆ อีกมากมาย ไตเติ้ลสำเร็จรูปแบบมืออาชีพ รวมทั้งยังมีเครื่องมือที่ใช้สำหรับสร้างซาวนด์แทร็คอย่างง่ายๆ อีกด้วย
ในการสร้างวีดีโอนั้น เริ่มแรกจับภาพวีดีโอจากกล้องหรือว่าดึงไฟล์วีดีโอจากแผ่น VCD/DVD เข้ามา จากนั้นก็ตัดแต่งวีดีโอที่จับภาพมา เรียงลำดับเหตุการณ์ ใส่ทรานสิชั่น (transtion - เอ็ฟเฟ็กต์ที่ใส่ระหว่างคลิปวีดีโอ ทำให้การเปลี่ยนคลิปวีดีโอจากคลิปหนึ่งไปยังอีกคลิปหนึ่งน่าดูยิ่งขึ้น) ทำภาพซ้อนภาพ ใส่ไตเติ้ล ใส่คำบรรยาย แทรกดนตรีประกอบ ซึ่งส่วนต่างๆ เหล่านี้จะแยกแทร็คกัน การทำงานในแต่ละแทร็คจะไม่มีผลกระทบกับกับแทร็คอื่นๆ เมื่อทำเสร็จแล้วขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การเขียนวีดีโอลงแผ่น
การตัดต่อใน Ulead นั้น จะสร้างเป็นไฟล์ project ขึ้นมา (.VSP) ซึ่งไฟล์นี้จะเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ หากว่าทำงานยังไม่เสร็จก็สามารถเปิดเพื่อทำงานต่อในภายหลังได้ ไฟล์นี้จะมีขนาดเล็ก การตัดต่อวีดีโอนี้ แม้จะตัดต่ออย่างไรในวีดีโอ ก็จะไม่มีผลกระทบต่อไฟล์ต้นฉบับ ข้อมูลการตัดต่อต่างๆ จะบันทึกอยู่ในไฟล์ project ทั้งหมด แต่เมื่อมีการสร้างวีดีโอที่ได้จากการตัดต่อ โปรแกรมอ่านข้อมูลจากต้นฉบับตามข้อมูลที่อ้างอิงในไฟล์ project นี้
เมื่อติดตั้งตัวโปรแกรมแล้ว ก็เปิดการใช้งานเลือกที่ VideoStudio Editor เพื่อสร้างไฟล์วีดีโอ
ตรงส่วนนี้จะมีให้เลือกหน้าตาในการปรับแต่งไฟล์วีดีโอจากนั้นให้ Right Click ที่ช่องแนบไฟล์ เพื่อเลือกไฟล์ภาพ หรือวีดีโอ
เลือกไฟล์ที่ต้องการใส่ในวีดีโอ สามารถลากเมาส์เพื่อเลือกทีละมากกว่าหนึ่งไฟล์ จากนั้นกด Open
หากต้องการใส่เพลงให้กับวีดีโอ ก็ให้ Right Click แล้วเลือกแนบไฟล์ Audio
เลือกเพลงที่ต้องการ แล้วกด Open

พึงจดจำ หมั่นเซฟไฟล์โปรเจคเป็นระยะๆ เพื่อว่าหากมีข้อขัดข้องโปรแกรม ไม่ทำงาน เรายังสามารถเรียกงานเดิมกลับมาทำใหม่ได้ ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ !
ไฟล์ที่ได้มา จะเป็นนามสกุล .VSP เป็นไฟล์โปรเจคของโปรแกรม Ulead


link: หัวข้อที่สอง

หัวข้อที่สาม

วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การศึกษากับสื่อมัลติมีเดีย




เนื่องจากประสิทธิภาพของสื่อมัลติมีเดีย ที่สามารนำเสนอเนื้อหาได้ทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง วีดิทัศน์ และอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประจวบเหมาะสมระบบติดต่อผู้ใช้ (GUI: Graphics User Interface) ที่ทำให้ผู้ใช้มีความสะดวกในการใช้งาน สร้างสรรค์งาน ทำให้บทบาทของสื่อฯ มีมากขึ้นตามลำดับ มีการนำสื่อมัลติมีเดีย มาประยุกต์ใช้กับงานต่างๆ มากมาย เช่น การเรียนการสอน การถ่ายทอดความรู้ การนำเสนอข้อมูล การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เอื้อให้นักออกแบบสื่อมัลติมีเดีย สามารถประยุกต์สื่อประเภทต่างๆ มาใช้ร่วมกันได้บนระบบคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างสื่อเหล่านี้ ได้แก่ เสียง วีดิทัศน์ กราฟิก ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวต่างๆ การนำสื่อเหล่านี้มาใช้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เรารวมเรียกสื่อประเภทนี้ว่า มัลติมีเดีย (Multimedia) การพัฒนาระบบมัลติมีเดียมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ จนถึงขั้นที่ผู้ใช้โปรแกรมสามารถโต้ตอบกับระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ กันได้ เช่น การใช้คีย์บอร์ด การใช้เม้าส์ การสัมผัสจอภาพ และการใช้เสียง เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาฮาร์ดแวร์ เช่น การพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้อ่านและบันทึกข้อมูล การพัฒนาหน่วยความจำให้มีขนาดเล็กลง แต่มีความจุมากขึ้น และมีสมรรถนะในการเข้าถึงข้อมูลเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านอุปกรณ์ต่อพ่วงสำคัญๆ เช่น เครื่องกราดภาพ (Scanner) เครื่องบันทึกภาพและเสียงระบบดิจิทัล เครื่องอ่านพิกัด (Digitizer) และอื่นๆ ซึ่งล้วนสนับสนุนการออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้น่าสนใจ และมีประสิทธิภาพเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้โปรแกรม แนวคิดใหม่ในการออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางแนวคิดเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ขัดข้องที่ไม่สามารถนำเสนอด้วยสื่อรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ได้ บางแนวคิดเกิดขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนาด้านศักยภาพของระบบคอมพิวเตอร์ เทคนิควิธีการออกแบบดังกล่าวทำให้เกิดคำศัพท์ที่มีคำนิยาม และความหมายที่หลากหลาย เช่น คำว่า มัลติมีเดย มัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์ (Interactive multimedia) ไฮเปอร์มีเดีย (Hypermedia) และไฮเปอร์เท็กซ์ (Hypertext)


การผลิตและใช้สื่อมัลติมีเดียในโรงเรียน
การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในโรงเรียนมีหลายรูปแบบ โดยทั่วไปจะนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในด้านการเรียนการสอน และด้านบริหารจัดการ เช่น การเงิน งานพัสดุ งานกิจการนักเรียน งานห้องสมุด การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียนควรจัดเตรียมระบบคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับงาน จัดเตรียมโปรแกรม หรือจัดหาโปรแกรมที่จำเป็นต้องใช้และวางแผนการใช้ให้ชัดเจน การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนมีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือสื่อมัลติมีเดีนนั่นเอง สื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนช่วยส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอนให้คุ้มค่ามากขึ้น ด้วยเหตุผลดังนี้
- เทคโนโลยีด้านสื่อมัลติมีเดียช่วยให้การออกแบบบทเรียนตอบสนองต่อแนวคิด และทฤษฎีการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของสื่อมัลติมีเดียว่าสามารถช่วยเสริมการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นได้
- สื่อมัลติมีเดียในรูปแบบของซีดีรอม ใช้ง่าย เก็บรักษาง่าย พกพาได้สะดวก และสามารถทำสำเนาได้ง่าย
- สื่อมัลติมีเดียเป็นสื่อการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ตามศักยภาพ ความต้องการ และความสะดวกของตนเอง
- ในปัจจุบันมีโปรแกรมช่วยสร้างบทเรียน (Authoring tool) ที่ง่ายต่อการใช้งาน ทำให้บุคคลที่สนใจทั่วไปสามารถสร้างบทเรียนสื่อมัลติมีเดียใช้เองได้
- ผู้สอนสามารถใช้สื่อมัลติมีเดียเพื่อสอนเนื้อหาใหม่ เพื่อการฝึกฝน เพื่อเสนอสถานการณ์จำลอง และเพื่อสอนการคิดแก้ปัญหา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้เป็นประการสำคัญ รูปแบบต่างๆ ดังกล่าวนี้จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ และรูปแบบการคิดหาคำตอบ
- สื่อมัลติมีเดียช่วยสนับสนุนให้มีสถานที่เรียนไม่จำกัดอยู่เพียงห้องเรียนเท่านั้น ผู้เรียนอาจเรียนรู้ที่บ้าน ที่ห้องสมุด หรือภายใต้สภาพแวดล้อมอื่นๆ ตามเวลาที่ตนเองต้องการ
- เทคโนโลยีสื่อมัลติมีเดีย สนับสนุนให้เราสามารถใช้สื่อมัลติมีเดียกับผู้เรียนได้ทุกระดับอายุและความรู้ หลักสำคัญอยู่ที่การออกแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียนเท่านั้น
- สื่อมัลติมีเดียที่มีคุณภาพ นอกจากจะช่วยให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนของโรงเรียนหรือหน่วยงานแล้ว ความก้าวหน้าของระบบเครือข่ายยังช่วยเสริมให้การใช้สื่อมัลติมีเดียเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาอื่นๆ อีกด้วย

องค์ประกอบที่เอื้อต่อการผลิตและการใช้สื่อมัลติมีเดียช่วยก่อให้เกิดการตื่นตัว ผลักดันให้ครู อาจารย์ และผู้บริหารทุกระดับของการศึกษาไทย หันมาให้ความสนใจกับการผลิตและการใช้สื่อมัลติมีเดียมากขึ้น
ในส่วนของภาครัฐนอกจากได้มีการวางแผนจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนทุกระดับ รวมทั้งแผนการให้ความรู้และทักษะคอมพิวเตอร์แก่ผู้บริหาร ครูและอาจารย์แล้ว ยังมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการผลิตและการจัดซื้อสื่อมัลติมีเดียด้วย ในส่วนของภาคเอกชนมีการตื่นตัวกับการผลิตและการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนเช่นกัน หลายโรงเรียนมีขีดความสามารถในการผลิตสื่อมัลติมีเดียด้วยตนเองเพื่อใช้เองหรือใช้ภายในกลุ่มโรงเรียน หรือใช้ในโรงเรียนในโครงการหรือเครือข่ายความร่วมมือกัน บางโรงเรียนต้องซื้อจากผู้ผลิตอื่นๆ บางโรงเรียนใช้วิธีผสมผสานคือ ผลิตเองบ้าง หรือจ้างให้ผู้อื่นผลิตตามความต้องการบ้าง บรรยากาศในการผลิตและการจัดหาสื่อมัลติมีเดีย เกิดขึ้นต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังพบว่าปริมาณและคุณภาพของสื่อมัลติมีเดียที่เราผลิตขึ้นใช้เองนั้น มิได้สูงขึ้นตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น โดยสรุปแล้วน่าจะมีสาเหตุเกี่ยวข้องดังนี้
1. ด้านการผลิต รูปแบบการผลิตสื่อมัลติมีเดีย โดยเฉพาะบทเรียน CAI จะมี 3 รูปแบบคือ โรงเรียนผลิตเองทั้งหมด โรงเรียนร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต และบริษัทผู้ผลิตทำเองทั้งหมด ทั้ง 3 รูปแบบนี้อาจมีความแตกต่างกันบ้างในประเทศอื่นๆ ตรงที่ผลิตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมากว่ากัน อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่โรงเรียนผลิตเองก็มีความเป็นไปได้น้อย เพราะการลงทุนสูงและไม่คุ้มค่า โดยเฉพาะการลงทุนด้านอุปกรณ์การผลิตบุคลากรหรือทีมงานผลิต อาจารย์ผู้เป็นเจ้าของเนื้อหาวิชา รวมทั้งลิขสิทธิ์โปรแกรมที่ใช้สร้างบทเรียน ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง การบริหารจัดการก็เป็นปัญหาปัญหาส่วนหนึ่ง การผลิตในลักษณะนี้อาจคุ้มค่าหากเป็นการร่วมมือกันผลิตในกลุ่มโรงเรียน ในเขตการศึกษา หรือโรงเรียนในสังกัดหน่วยงานเดียวกัน มีองค์กรหรือผู้รับผิดชอบชัดเจน มีแผนงานและนโยบายที่ต่อเนื่อง
รูปแบบที่สอง เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและบริษัทผู้ผลิต เป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ รายละเอียดของความร่วมมือมีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้แนะนำเทคนิคต่างๆ ในการออกแบบ และการเขียน Storyboard ให้แก่ครู อาจารย์ ซึ่งเป็นเจ้าของเนื้อหา เมื่อได้ Storyboard แล้วบริษัทผู้ผลิตจะดำเนินการผลิต ปรับปรุงและเพิ่มเติมบางส่วน ส่วนลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ใดก็แล้วแต่การตกลง รูปแบบความร่วมมืออื่นๆ เช่น โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการเขียน Storyboard ทั้งหมด แล้วจ้างบริษัทเขียนโปรแกรม หรือบริษัทอาจว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาจากโรงเรียนกำหนดเนื้อหา กิจกรรม ขอบข่ายเทคนิคการสอน การประเมิน ฯลฯ รูปแบบการร่วมมือลักษณะนี้จะช่วยแก้ปัญหาทั้งสองฝ่ายในด้านการขาดบุคลากรในการปฏิบัติงาน การร่วมมือกันผลิตดังกล่าวนี้อาจมีข้อเสียเปรียบอยู่บ้างในแง่ของการบริหารจัดการ การประสานงาน และความชัดเจนด้านลิขสิทธิ์
รูปแบบที่สาม คือ บริษัทเอกชนเป็นผู้ผลิตเองทั้งหมด มีเป้าหมายสองประการ คือ ผลิตตามการว่าจ้าง หรือผลิตเพื่อจำหน่าย การผลิตตามการว่าจ้างนั้นก็เป็นที่ต้องการของบริษัท เพราะได้รับค่าตอบแทนหรือค่าว่าจ้างเป็นเงินก้อนไม่ต้องรับผิดชอบในการขายแต่ประการใด ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งดูแลการศึกษาในระบบใหญ่ สามารถนำบทเรียนไปใช้อย่างคุ้มค่า แต่ปัญหาของบริษัทผู้ผลิตก็มีเช่นกัน ปัญหาใหญ่อยู่ที่การกำหนดรายละเอียดของการออกแบบโปรแกรม หากไม่ทำความตกลงให้ชัดเจนถึงรูปแบบ เทคนิควิธีการ และอื่นๆ แล้ว การตรวจรับงานโดยกรรมการคนละชุดกันอาจไม่มีเกณฑ์อ้างอิงที่ช่วยกำหนดกรอบของการรับงานได้ สำหรับรูปแบบการผลิตเพื่อจำหน่ายเอง ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหามาก ปัญหาประการแรก คือ การออกแบบบทเรียนที่มีคุณภาพดี บริษัทต้องลงทุนสูงมาก ความคุ้มค่าอยู่ที่จำนวนสำเนาที่ได้จำหน่ายออกไป ปัญหาประการที่สอง คือ ในการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีผลบังคับใช้ไม่เต็มที่ หลายบริษัทต้องเลิกล้มแนวคิดในการผลิตสื่อมัลติมีเดียด้วยเหตุที่ไม่สามารถควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ และไม่ต้องการให้เกิดข้อขัดแย้ง ปัญหาประการที่สาม คือ ความเสียเปรียบด้านภาษา สื่อมัลติมีเดียที่ผลิตขึ้นโดยฝีมือคนไทยเป็นภาษาไทย มีกรอบจำหน่ายที่แคบอยู่ภายในประเทศไทยเท่านั้น ปัญหาข้อนี้ส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาขายด้วย เมื่อยอดขายต่ำก็จำเป็นต้องตั้งราคาขายสูงเพื่อให้คุ้มทุน ในทางกลับกัน สื่อมัลติมีเดียที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักมีข้อได้เปรียบ คือ มีวงจำหน่ายที่กว้างขวาง หลายบริษัทจึงหันไปร่วมธุรกิจกับต่างประเทศโดยรับเขียนโปรแกรมให้เบ็ดเสร็จตามรูปแบบการผลิตที่กล่าวไว้แล้ว ผลที่ตามมาก็คือโรงเรียนต่างๆ ยังคงขาดแคลนสื่อมัลติมีเดียที่เป็นภาษาไทยที่มีคุณภาพ สื่อมัลติมีเดียที่ใช้สอนภาษาอังกฤษแม้มีให้เลือกมากขึ้น แต่ก็ยังมีราคาสูงเกินที่จะจัดหาให้เพียงพอกับการใช้เพื่อการเรียนการสอนเป็นรายบุคคลได้
2. ด้านการจัดหา รูปแบบการจัดหาสื่อมัลติมีเดีย โดยเฉพาะบทเรียน CAI คล้ายกับการจัดหาสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อใช้ในห้องสมุดหรือชั้นเรียน ในการจัดหาสื่อสิ่งพิมพ์ไม่มีอะไรซับซ้อน ความสำคัญจะอยู่ที่สื่อที่มีให้เลือกและวิธีการเลือก หากมีจำนวนให้เลือกมากพอ และผู้เลือกได้มีโอกาสเปรียบเทียบคุณภาพกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้เป็นมาตรฐาน โอกาสที่จะได้สื่อที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมก็มีมาก การจัดหาสื่อมัลติมีเดียจะมีรูปแบบคล้ายกัน หากมีสื่อให้เลือกมากพอ มีแบบประเมินที่มีคุณภาพ และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในการตรวจสอบคุณภาพในทุกด้านก็น่าจะเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานี้ยังมีปัญหาการปฏิบัติเกือบทุกด้าน ประการแรกคือ สื่อมัลติมีเดียยังมีไม่มากพอที่จะให้เลือกใช้ แม้ในระยะหลังหน่วยงานต่างๆ จะมีนโยบายสนับสนุนการผลิตหรือการจัดหาบทเรียนมาตลอด แต่การจะสร้างให้เกิดการแข่งขันทั้งด้านปริมาณและคุณภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แบบประเมินยังมีไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก อีกทั้งยังมีความหลากหลายทั้งรูปแบบและหัวข้อการประเมิน ขาดแคลนมากที่สุดน่าจะเป็นนักประเมินที่มีความรู้ความเข้าใจการประเมินคุณภาพสื่อมัลติมีเดีย ผู้ที่จะเป็นผู้ประเมินนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรอบรู้ทฤษฎีการเรียนรู้ ทฤษฎีการสอน รู้เทคนิคการออกแบบ รู้รูปแบบของสื่อมัลติมีเดีย รู้ข้อจำกัดและข้อได้เปรียบ สามารถประเมินคุณภาพกับราคาเปรียบเทียบกันได้และแน่นอนว่าผู้ประเมินจะต้องมีความรู้พื้นฐานคอมพิวเตอร์ สามารถตรวจสอบการใช้งาน วิเคราะห์ความยากง่ายในการใช้งานของสื่อมัลติมีเดียที่ตนประเมินอยู่ได้ ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ คงใช้แนวคิดคล้ายกับการแก้ปัญหาการผลิตสื่อมัลติมีเดีย กล่าวคือ ควรมีการรวมตัวหรือจัดตั้งหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการประเมินสื่อมัลติมีเดียจนกว่าหน่วยงานย่อยหรือโรงเรียน จะมีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการประเมินสื่อมัลติมีเดียเอง สำหรับหน่วยงานของรัฐ ควรเริ่มด้วยการประเมินโดยหน่วยงานส่วนกลาง แล้วกระจายการรับผิดชอบไปสู่หน่วยงานในระดับจังหวัด และกลุ่มโรงเรียนต่อไป อย่างไรก็ตาม ลักษณะของการกระจายความรับผิดชอบในการจัดหาสื่อมัลติมีเดียนี้ คงต้องมีการปรับระบบควบคู่กับการวางรูปแบบการจัดสรรงบประมาณด้วยเช่นกัน